" เก๋ากี้ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด-ความดันโลหิต แถมชะลอแก่ "
ไมมีใครปฏิเสธได้ว่า สังคมที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนานาประเภท มนุษย์เราสามารถพิชิตโรคแปลกใหม่สารพัดชนิดที่เกิดขึ้นมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต อันเป็นผลจากพัฒนาการทางการแพทย์ที่มีการวิจัยและสกัดตัวยาชนิดต่างๆ พร้อมกับเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งช่วยยืดอายุให้กับผู้ป่วยจำนวนนับไม่ถ้วน
ความสมบูรณ์ทางร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาให้มนุษย์เรามีเรี่ยวแรงและสติปัญญาในการวัฒนาสังคมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป หากแต่ในช่วงที่โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดอย่างรวดเร็ว และยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนยับยั้งการติดเชื้อ ผู้คนจึงหันกลับมาให้ความสำคัญกับสมุนไพรพื้นบ้านที่อยู่ใกล้ตัวอีกครั้ง
วันนี้เราลองมารู้จักกับสมุนไพรพื้นบ้านที่แสนจะธรรมดา แต่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยอย่างน่าอัศจรรย์ใจ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองจำนวนมาก ด้วยเหตุที่สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นตัวยาที่หาซื้อง่ายเพราะมีจำหน่ายตามร้านขายยาจีนแผนโบราณ
เริ่มจาก เก๋ากี้ สมุนไพรเม็ดแดงๆที่เมื่อบิออกดูด้านในแล้ว จะพบกับเม็ดเล็กๆสีขาวๆ อยู่ภายในเม็ดเก๋ากี้ แต่ก็สามารถรับประทานได้ทั้งเม็ดโดยไม่ส่งผลเสียใดๆต่อสุขภาพ ภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวถึงเก๋ากี้ไว้ว่า "เก๋ากี้โลกอยู่ที่เมืองจีน เก๋ากี้จีนต้องที่หนิงเซี่ย" อธิบายความให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยเป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งผลิตเก๋ากี้ที่สำคัญของจีนและของโลก
โดยเฉพาะตำบลจงหนิงที่เมื่อถึงฤดูเก็บเม็ดเก๋ากี้แล้ว จะเห็นสวนเก๋ากี้ที่เต็มไปด้วยต้นเก๋ากี้สูงท่วมหัวเรียงรายเป็นทิวแถว ขนาดของเก๋ากี้ที่จงหนิงใหญ่และมีความสดมาก เปลือกบางแต่เนื้อแน่นรสหวานชุ่มคอ มีลักษณะแบนแต่ก็ไม่กลมยาวรีแต่ไม่ลีบ ไม่จับตัวเป็นก้อน จึงสามารถเก็บไว้ได้นาน
ในปีค.ศ. 1995 ทางรัฐบาลประกาศให้ตำบลจงหนิงเป็น "บ้านเกิดเก๋ากี้จีน" ดังนั้นเก๋ากี้ที่ผลิตจากพื้นที่แถบนี้ล้วนเป็นเก๋ากี้ที่ได้รับการการันตีเรื่องคุณภาพ ในบริเวณอื่นๆ ของประเทศก็มีการปลูกเช่นกันอย่างมณฑลเหอเป่ย์ มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง ฯลฯ
เก๋ากี้ที่มานำสกัดเป็นตัวยานั้นมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นยาที่มีสรรพคุณนานัปการ ทำให้ชาวจีนตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ จึงมีการคิดค้นวิธีการเพาะชำขึ้นมาราว 600 ปีก่อนหน้านี้
จุดเด่นของการปลูกเก๋ากี้ คือ สามารถปลูกได้ในสภาวะอากาศที่แห้งแล้งเพราะเป็นพืชที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมสูง ไม่กลัวการคุกคามจากหนอนและแมลง ทั้งยังสามารถเติบโตได้ดีในสภาพดินทรายและอากาศแห้งแล้ง นั่นเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้เก๋ากี้ที่ปลูกในตำบลจงเซี่ยนกลายเป็นเก๋ากี้ชนิดที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะสอดคล้องกับปัจจัยการเจริญเติบโตดังกล่าว
ถ้าจะสาธยายถึงสรรพคุณของสมุนไพรเล็กพริกขี้หนูตัวนี้ คงต้องใช้พื้นที่เล็กน้อยเพราะมีประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ดวงตามีความกระจ่างใส ลดความดันโลหิต สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยลดอาการตาฝ้าฟางและกระหายน้ำในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชะลอความแก่ บรรเทาความเหนื่อยล้ากำจัดพิษ บำรุงระบบสืบพันธุ์ ป้องกันเนื้องอก ฯลฯ
สำหรับโรคที่พบเห็นบ่อยอย่างความดันโลหิตสูง สามารถต้มเก๋ากี้ 15 กรัมกับน้ำ ดื่มแทนน้ำชา หรือผู้ที่เป็นโรคสายตาฝ้าฟางในตอนกลางคืน ความสามารถในการมองเสื่อม สามารถนำเก๋ากี้ 6 กรัม ไปต้มกับดอกเก๊กฮวยขาวในปริมาณเท่ากัน ดื่มแทนน้ำชา จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี หรือสามารถกินเก๋ากี้สด 20 - 30 เม็ดจะช่วยบรรเทาอาการสายตาฝ้าฟางและชะลอความแก่ ทั้งนี้จะต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาระยะหนึ่ง จึงเกิดประสิทธิภาพ
ด้วยสรรพคุณในด้านการเป็นตัวยาบำรุงร่างกาย จึงมีการนำเก๋ากี้ไปแช่น้ำหรือแช่เหล้า แล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน จากนั้นก็นำมาดื่มเพื่อบำรุงอวัยวะภายใน แต่ใช่ว่าเก๋ากี้จะเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย เพราะตัวสมุนไพรมีฤทธิ์ร้อน ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นไข้ตัวร้อน ปรากฏมีอาการอักเสบ หรือท้องเดินจึงไม่เหมาะที่จะรับประทาน เพราะอาจทวีความรุนแรงให้กับโรคได้ เนื่องจากเป็นตัวยาที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวของเส้นประสาทจึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีความต้องการทางเพศสูงเช่นกัน ในทางกลับกัน เก๋ากี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำ
เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารเสริมนานาชนิดไม่เหมาะที่จะรับประทานในปริมาณมากเกินความจำเป็น ในฐานะที่เป็นสมุนไพรบำรุงร่างกายชนิดหนึ่ง จึงมีประโยชน์สูงสุดต่อเมื่อรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ โดยผู้ใหญ่สามารถรับประทานวันละ 20 กรัม แต่หากต้องการนำไปใช้เป็นตัวยารักษาโรค สามารถเพิ่มปริมาณเป็น 30 กรัมต่อวัน โชคดีที่ผลการวิจัยทางการแพทย์ล่าสุดชี้ให้เห็นว่า เก๋ากี้เป็นสมุนไพรที่ปลอดสารพิษ สามารถใช้ประกอบอาหารหรือสกัดเป็นตัวยาและใช้เป็นเวลานานโดยไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ
หลายคนอาจสงสัยว่า สรรพคุณที่กล่าวมาข้างต้นดูเหมือนจะเกินจริง แต่ชาวจีนโดยส่วนใหญ่ต่างรู้ถึงคุณประโยชน์ของเก๋ากี้และนำไปสกัดร่วมกับตัวยาชนิดอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรค เก๋ากี้จึงเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่อยู่คู่สังคมจีนมานานหลายพันปี
แหล่งอ้างอิง
http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/healthtips/10417